วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560

แผนภูมิ ขันธ์ 5 และปฏิจจสมุปบาท



แผนภูมิ ขันธ์ 5 และปฏิจจสมุปบาท
  ขันธ์ ๕ หรือ เบญจขันธ์
คำว่า  “ขันธ์”  แปลว่า  กอง หรือ  ส่วน  หมายความว่า  ชีวิตของมนุษย์เรานี้   เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริงแล้วจะเห็นว่า แบ่งออกเป็นส่วน ๆ  หรือเป็นกอง ๆ ซึ่งตามหลักเบญจขันธ์ถือว่า  ชีวิต ประกอบไปด้วยส่วนต่าง ๆ  ๕  ส่วน  ที่ท่านเรียกว่า  กองรูป และกองนาม มีคำอธิบาย ดังนี้
๑. รูป (Corporeality)  ได้แก่ ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด ร่างกายและพฤติกรรมทั้งหมดของร่างกาย หรือสสารและพลังงานฝ่ายวัตถุ พร้อมทั้งคุณสมบัติและพฤติการณ์ต่าง ๆ ของสสารพลังงานเหล่านั้น
๒. เวทนา (Feeling หรือ Sensation) ได้แก่ ความรู้สึกสุข ทุกข์หรือเฉย ๆเกิดจากผัสสะทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ
๓.  สัญญา (Perception) ได้แก่ ความกำหนดได้หรือหมายรู้ คือ กำหนดรู้อาการเครื่องหมายลักษณะต่าง ๆ อันเป็นเหตุให้จำอารมณ์ (object)   นั้น ๆ ได้
                                    ๔. สังขาร (Mental  Formations หรือ Volitional Activities) ได้แก่ องค์ประกอบหรือคุณสมบัติต่าง ๆ ของจิตมีเจตนาเป็นตัวนำ ซึ่งแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลาง ๆ ปรุงแปร การตริตรึกนึกคิดในใจและการแสดงออกทางกายวาจา  ให้เป็นไปต่าง ๆ เป็นที่มาของกรรม  เช่น  ศรัทธา สติ หิริ  โอตตัปปะ เมตตา  กรุณา  มุทิตา  อุเบกขา  ปัญญา  โมหะ  โลภะ โทสะ  มานะ  ทิฐิ  อิสสา  มัจฉริยะเป็นต้น
                                    ๕. วิญญาณ  (Consciousness) ได้แก่ ความรู้แจ้งอารมณ์ทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ คือ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้สัมผัสทางกายและการรู้อารมณ์ทางใจ (พระธรรมปิฎก, ๒๕๔๖: ๑๕-๑๖) ความรู้แจ้งในอารมณ์ที่ผ่านเข้ามาทางอายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่า “วิญญาณ ๖” ได้แก่
๑)  เมื่อ ตา เห็นรูป   เกิดความรู้ในรูปขึ้นทางตา   เรียกว่า  จักขุวิญญาณ
๒) เมื่อหูได้ยินเสียง เกิดความรู้ในเสียงขึ้นทางหู เรียกว่า  โสตวิญญาณ
๓)  เมื่อ จมูกได้กลิ่น เกิดความรู้ในกลิ่นขึ้นทางจมูก   เรียกว่า  ฆานวิญญาณ
๔)  เมื่อ ลิ้นได้รับรส  เกิดความรู้ในรสขึ้นทางลิ้น เรียกว่า ชิวหาวิญญาณ
๕) เมื่อกายได้รับสัมผัส เกิดความรู้ในสัมผัสขึ้นทางกาย  เรียกว่า  กายวิญญาณ
๖)  เมื่อใจได้รับธรรมารมณ์ เกิดความรู้ธรรมารมณ์ทางใจ เรียกว่า  มโนวิญญาณ

Pattijasamupabath
ปฏิจจสมุปบาท
คำว่า  “ปฏิจจสมุปบาท”  แยกศัพท์เป็น  ปฏิจจ  แปลว่า  อาศัย  สมุป-ปาท  แปลว่า  การเกิดขึ้นร่วมกัน  รวมเป็น  ปฏิจจสมุปบาท  แปลว่า  การเกิดขึ้นร่วมกันโดยอาศัยกัน  ปฏิจจสมุปบาท  เป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในรูปของกฎธรรมชาติ หรือ  หลักความจริงที่มีอยู่โดยธรรมดา  ไม่เกี่ยวกับการอุบัติของพระศาสดาทั้งหลาย  ดังมีพุทธพจน์ที่แสดงปฏิจจสมุปบาทในรูปของกฎธรรมชาติไว้ว่า  “ตถาคตทั้งหลาย จะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ธาตุ (หลัก) นั้น ก็ยังคงมีอยู่ เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยาม คือ หลักอิทัปปัจจยตา
ผู้ที่เข้าใจปฏิจจสมุปบาทพระพุทธองค์ทรงถือว่าเป็นการเข้าใจธรรม  โดยทรงรับรองไว้ว่า “ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้น ย่อมเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้น ย่อมเห็นปฏิจจสมุปบาท” (ม.มู. ๑๒/๓๔๖/๓๕๙)
องค์ประกอบของปฏิจจสมุปบาทมี ๑๒ ข้อ  นับตั้งแต่อวิชชา ถึง ชรามรณะเท่านั้น  คือ อวิชชา  ¦  สังขาร  ¦  วิญญาณ  ¦  นามรูป  ¦  สฬายตนะ  ¦  ผัสสะ  ¦  เวทนา  ¦  ตัณหา  ¦  อุปาทาน  ¦  ภพ  ¦  ชาติ  ¦  ชรามรณะ  ส่วน  โสกะ  ปริเทวะ  ทุกข์  โทมนัส  อุปายาส  (ความคับแค้นใจ)  เป็นเพียงตัวพลอยผสม  เกิดแก่ผู้มีกิเลสเมื่อมีชรามรณะแล้ว  เป็นตัวการหมักหมมกิเลสซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชาหมุนวงจรต่อไปอีก
องค์ประกอบของปฏิจจสมุปบาทประกอบด้วย  อวิชชา  สังขาร  วิญญาณ  นามรูป  สฬายตนะ  ผัสสะ  เวทนา  ตัณหา  อุปาทาน  ภพ  ชาติ  ชรามรณะ  แต่ละข้อนั้นมีความหมายดังต่อไปนี้
๑.  อวิชชา  คือ ความไม่รู้ในสภาวธรรามและหลักความเป็นจริง ๘ ประการ ได้แก่ ความไม่รู้ในอริยสัจ ๔  คือ
๑.๑  ไม่รู้จักทุกข์
๑.๒ ไม่รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์
๑.๓  ไม่รู้ความดับทุกข์
๑.๔  ไม่รู้ทางแห่งความดับทุกข์นั้น
๑.๕  ไม่รู้อดีต คือ ไม่รู้จักสาวหาเหตุในอดีตว่าสิ่งที่ปรากฏในปัจจุบัน คือ ผลที่มาจากเหตุอะไรในอดีต
๑.๖  ไม่รู้อนาคต คือ ไม่รู้จักคาดการณ์ข้างหน้าว่าสิ่งที่ปรากฏในปัจจุบันจะส่งผลอย่างไรในอนาคต
๑.๗  ไม่รู้ทั้งอดีตและอนาคต คือ ไม่รู้จักโยงเหตุในอดีตให้เชื่อมถึงผลในอนาคต
๑.๘  ไม่รู้ในปฏิจจสมุปบาท คือ ไม่รู้สภาวธรรมนั้น ๆ ตามความเป็นจริง
เมื่อมีอวิชชา  ก็มีความหลงผิดความเข้าใจผิดไม่รู้สภาวธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง  ถูกอวิชชาปรุงแต่ง  จึงเข้าใจผิด  ยึดถือ  ยึดมั่นในสิ่งทั้งหลายว่า   เป็นของตนอาการที่จิตปรุงแต่งดังกล่าวนี้จัดเป็นสังขาร
๒. สังขาร  คือ อารมณ์ทั้งปวงที่ปรุงแต่งจิตใจ  เกิดมาจากอวิชชาเป็นปัจจัย  ตามนัยแห่งพระอภิธรรมมี ๖ อย่าง ได้แก่
๒.๑  ปุญญาภิสังขาร  คือ  กุศลเจตนาที่เป็นกามาวจร  เป็นรูปาวจร  ที่สำเร็จด้วยทาน  ที่สำเร็จด้วยศีล ที่สำเร็จด้วยภาวนา
๒.๓  อปุญญาภิสังขาร  คือ  อกุศลเจตนาที่เป็นกามาวจร
๒.๓  อาเนญชาภิสังขาร  คือ  กุศลเจตนาเป็นอรูปาวจร
๒.๔  กายสังขาร  คือ  กายสัญเจตนา (ความจงใจทางกาย)
๒.๕  วจีสังขาร  คือ  วจีสัญเจตนา (ความจงใจทางวาจา)
๒.๖  จิตตสังขาร  คือ  มโนสัญเจตนา  (ความจงใจในใจ)  (อภิ.สํ. ๓๔/๒๕๖/๑๘๑)
อวิชชาเป็นเหตุให้คิดที่จะกระทำบุญและบาปด้วยความปรารถนาในภพทั้ง ๓  หรือทำบาป  เพราะยึดในขันธ์ ๕  ว่าเป็นตัวตนของตน  จึงต้องการแสวงหาความสุขทางประสาทสัมผัสทั้ง ๖  ให้แก่ขันธ์ ๕และสังขารนี้  จึงเป็นเหตุให้เกิดวิญญาณ
๓. วิญญาณ   คือ  ความรู้แจ้งอารมณ์  ได้แก่  วิญญาณ ๖ มีดังนี้
๓.๑  จักขุวิญญาณ  ความรู้อารมณ์ทางตา   คือ  รู้รูปด้วยตา
๓.๒  โสตวิญญาณ  ความรู้อารมณ์ทางหู  คือ รู้เสียงด้วยหู
๓.๓  ฆานวิญญาณ  ความรู้อารมณ์ทางจมูก คือ รู้กลิ่นด้วยจมูก
๓.๔  ชิวหาวิญญาณ  ความรู้อารมณ์ทางลิ้น  คือ รู้รสด้วยลิ้น
๓.๕  กายวิญญาณ  ความรู้อารมณ์ทางกาย  คือ รู้สัมผัสทางกาย
๓.๖  มโนวิญญาณ  ความรู้อารมณ์ทางใจ  คือ  รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจได้แก่ รู้ความนึกคิด  (อภิ.วิ.๓๕/๑๒๐/๑๐๕)
สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ  คือ  บุญหรือบาปที่เราได้ทำไว้จะเป็นชนกกรรมทำให้เกิดปฏิสนธิวิญญาณ  เพราะในเวลาใกล้จะตาย  สังขารนี้ก็จะมาปรากฏเป็นอารมณ์  โดยกรรมนิมิตหรือคตินิมิตมาปรากฏในมโนทวาร  จุติจิตก็จะเกิด  เป็นชาติใหม่  โดยมีภวังควิสัย  (สังขาร คือ บุญและบาปที่ติดมากับภวังคจิต)  เป็นอารมณ์ (วิสุทธิ.   ฏีกา.๓/๑๖๓-๑๖๖)
ปฏิสนธิวิญญาณ  คือ  วิญญาณที่ทำหน้าที่ไปปฏิสนธิหรือถือกำเนิดในภพภูมิต่าง ๆ วิญญาณชนิดนี้ถูกสังขารปรุงแต่งให้เกิดมีขึ้น  สังขารจึงเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ๆ  เป็นเหตุของนามรูป
๔.  นามรูป  คือ  นามและรูป  ได้แก่  เวทนา  สัญญา  เจตนา  ผัสสะ  มนสิการ หรือในขันธ์ ๕  ดูรายละเอียดในขันธ์ ๕ องค์ประกอบของชีวิต (สํ.ข.๑๗/๙๕/๕๘)
นามรูป  เกิดขึ้นได้เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย  ถ้าวิญญาณไม่มี  นามรูปก็มีไม่ได้  เพราะนามรูปย่อมเป็นไปตามวิญญาณ (อภิ.สํ.๓๔/๘๕๗/๓๓๒)  ดังนั้น  นามรูปจึงเป็นผลของวิญญาณและเป็นเหตุของสฬายตนะ
๕.  สฬายตนะ  คือ  อุปาทายรูป  ๖  ได้แก่  อายตนภายใน ๖  หมายถึง  ที่เชื่อมต่อให้เกิดความรู้ หรือแดนต่อความรู้ฝ่ายภายใน  มี ๖ อย่าง คือ  (๑) จักขุหรือตา (๒) โสตะหรือ หู (๓) ฆานะหรือจมูก (๔) ชิวหาหรือ ลิ้น (๕) กายะหรือกาย (๖) มโนหรือใจ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อินทรีย์ ๖ (ที.ปา.๑๑/๓๐๔/๒๕๕)
ลักษณะของอายตนะ  คือ  การเชื่อมหรือการต่อ  เช่น  ตาต่อกับรูป  มีหน้าที่ให้เห็นรูป  เป็นต้น  มีความเป็นวัตถุ คือ ที่ตั้งและทวารที่ผ่านของวิญญาณธาตุเป็นผล  และมีนามรูปเป็นเหตุ  สฬายตนะนี้เป็นเหตุหรือปัจจัยให้เกิดผัสสะ
๖.  ผัสสะ  คือ  ความกระทบ หรือความประจวบ  ได้แก่  สัมผัส ๖  คือ ความกระทบ   ความประจวบกันแห่งอายตนภายใน  อายตนะภายนอกและวิญญาณ ได้แก่
๖.๑. จักขุสัมผัส  ความกระทบทางตา คือ ตา + รูป + จักขุวิญญาณ
๖.๒ โสตสัมผัส  ความกระทบทางหู คือ หู + เสียง + โสตวิญญาณ
๖.๓   ฆานสัมผัส  ความกระทบทางจมูก คือ จมูก + กลิ่น + ฆาน-วิญญาณ
๖.๔  ชิวหาสัมผัส  ความกระทบทางลิ้น คือ ลิ้น + รส + ชิวหา-วิญญาณ
๖.๕  กายสัมผัส  ความกระทบทางกาย คือ กาย + โผฏฐัพพะ + กาย-วิญญาณ
๖.๖  มโนสัมผัส  ความกระทบทางใจ คือ ใจ + ธรรมารมณ์ + มโน-วิญญาณ  (ที.ปา.๑๑/๓๐๗/๒๕๕)
ลักษณะของผัสสะ  คือ  การถูกต้องอารมณ์ภายนอกหรือสิ่งภายนอก  มีหน้าที่ทำให้จิตกับอารมณ์กระทบกัน  มีการกระทบกันขององค์ประกอบ  ๓  ประการ  เช่น  ทวารมีตา  อารมณ์มีรูป  เกิดวิญญาณมีจักษุวิญญาณเป็นผล  เป็นต้น  ซึ่งมีอายตนะทั้ง  ๖  เป็นเหตุให้เกิด  และผัสสะก็เป็นเหตุของเวทนาต่อไป
๗.  เวทนา  คือ  ความเสวยอารมณ์หรือความรู้สึก  ได้แก่  เวทนา ๖  คือ  การเสวยอารมณ์ ได้แก่
๗.๑  จักขุสัมผัสสชาเวทนา  เวทนาเกิดจากสัมผัสทางตา
๗.๒ โสตสัมผัสสชาเวทนา  เวทนาเกิดจากสัมผัสทางหู
๗.๓  ฆานสัมผัสสชาเวทนา  เวทนาเกิดจากสัมผัสทางจมูก
๗.๔  ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา  เวทนาเกิดจากสัมผัสทางลิ้น
๗.๕  กายสัมผัสสชาเวทนา  เวทนาเกิดจากสัมผัสทางกาย
๗.๖  มโนสัมผัสสชาเวทนา  เวทนาเกิดจากสัมผัสทางใจ (สํ.สฬ.๑๘/๔๓๔/๒๘๗)
ลักษณะของเวทนา  คือ  การเสวย หรือเสพอารมณ์  มีหน้าที่เสพรสแห่งอารมณ์ มีความสุขและทุกข์เป็นผล มีผัสสะเป็นเหตุให้เกิดผลของเวทนานั้น เมื่อมีความทุกข์ก็ไม่ชอบใจใคร่จะหนีให้พ้นจากทุกข์นั้น เมื่อพบความสุข  ความปรารถนาที่จะได้ความสุขนั้นไว้ตลอดไป  หรือเมื่อตาเห็นรูปสวย ๆ ก็มีความรู้สึกชอบและพอใจในรูปนั้นเกิดสุขเวทนาขึ้น และเวทนานี่เองเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา
๘.  ตัณหา  คือ  ความทะยานอยาก ได้แก่  ตัณหา ๖ มีรูปตัณหา เป็นต้น
๘.๑  รูปตัณหา  อยากได้รูป
๘.๒  สัททตัณหา  อยากได้เสียง
๘.๓  คันธตัณหา  อยากได้กลิ่น
๘.๔  รสตัณหา  อยากได้รส
๘.๕  โผฏฐัพพตัณหา  อยากได้โผฏฐัพพะ
๘.๖   ธัมมตัณหา  อยากได้ธรรมารมณ์  (ที.ปา.๑๑/๓๑๑/๒๕๖)
ตัณหา คือ สาเหตุแห่งทุกข์  มีหน้าที่ทำให้เพลิดเพลินในอารมณ์  มีความไม่รู้จักอิ่มเป็นผล  มีเวทนาเป็นเหตุให้เกิด  เพราะมีเวทนาจึงมีตัณหา เช่น  เห็นรูปสวย ๆ เกิดความชอบใจ เรียกว่า สุขเวทนา ๆ ก็ทำให้เกิดกามตัณหา  ผู้มีสุขยิ่งต้องการสุขมากยิ่งขึ้น  ทุกขเวทนาก็ทำให้เกิดความเบี่อหน่ายไม่อยากมีความทุกข์ ต้องการหนีไปให้พ้น ไม่อยากเป็นเช่นนั้นอีก เรียกว่า วิภวตัณหา  และอุเบกขาเวทนานั้นก็เป็นเหตุให้เกิดตัณหาได้  เพราะอุเบกขาเวทนา  เป็นเวทนาละเอียด  เป็นความสงบภายใน  เป็นสุขเวทนาอย่างอ่อน ๆ  เวทนาจึงเป็นปัจจัยแห่งตัณหาทั้ง ๓  กล่าวคือ กามตัณหา  ภวตัณหา และวิภวตัณหา  และตัณหานั่นเองเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทานต่อไปอีก
        ๙.  อุปาทาน  คือ  ความยึดมั่น ได้แก่ ความถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส   ความยึดติดอันเนื่องมาแต่ตัณหา หรือผูกพันเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง  มี ๔ ประการ
๙.๑  กามุปาทาน  หมายถึง  ความยึดมั่นในกาม  กล่าวคือ  ความยึดมั่นในรูป  เสียง  กลิ่น  รส โผฏฐัพพะ  ที่น่ารัก น่าใคร่ หรือน่าพอใจ
๙.๒  ทิฏฐุปาทาน  หมายถึง  ความยึดมั่นในทิฏฐิหรือทฤษฎี  กล่าวคือ  การยึดมั่นในความเห็น  ลัทธิ  หรือหลักคำสอนต่าง ๆ
๙.๓   สีลัพพตุปาทาน  หมายถึง  ความยึดมั่นในศีลและพรต  กล่าวคือ  การถือว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและวัตร  หลักความประพฤติ  ข้อปฏิบัติ  แบบแผน  ระเบียบ  วิธี  ขนบธรรมเนียมประเพณี  ลัทธิ  พิธีต่าง ๆ  ถือว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ๆ  โดยสักว่าทำสืบ ๆ  กันมา หรือปฏิบัติตาม ๆ  กันไปอย่างงมงาย หรือโดยนิยมว่าขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้เป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจตามหลักความสัมพันธ์แห่งเหตุและผล
๙.๔  อัตตวาทุปาทาน หมายถึง  ความยึดมั่นในวาทะว่าตัวตน  กล่าวคือ  ความถือหรือสำคัญหมายอยู่ในภายในว่า  มีตัวตน  ที่จะได้  จะเป็น  จะมี  จะสูญสลาย  ถูกบีบคั้นทำลาย  หรือเป็นเจ้าของ  เป็นนายบังคับบัญชาสิ่งต่าง ๆ ได้  ไม่มองเห็นสภาวะของสิ่งทั้งปวงอันรวมทั้งตัวตนว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ประชุมประกอบกันเข้า  เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งหลายที่มาสัมพันธ์กันล้วน ๆ   (ที.ปา.๑๑/๒๖๒/๒๔๒)
เมื่อบุคคลมีอุปาทานเกิดขึ้นย่อมกระทำกรรมทางกาย  ทางวาจาและทางใจ  เพื่อให้ได้ตามความปรารถนาของตน  กรรมเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะการยึดมั่น ถึอมั่น  และอุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพต่อไป
        ๑๐.  ภพ  คือ  ภาวะชีวิต  ได้แก่  ภพ  ภาวะชีวิตของสัตว์ หรือโลกเป็น   ที่อยู่ของสัตว์  มีอยู่  ๓  อย่าง ดังนี้
    ๒.๑๐.๑  กามภพ  ภพที่เป็นกามาวจร,  ภพของสัตว์ผู้ยังเสวยกามคุณคืออารมณ์ทางอินทรีย์ทั้ง ๕  ได้แก่  อบาย ๔  มนุษย์โลกและกามาวจรสวรรค์ทั้ง ๖
    ๒.๑๐.๒  รูปภพ  ภพที่เป็นรูปาวจร,  ภพของสัตว์ผู้เข้าถึงรูปฌาน  ได้แก่รูปพรหมทั้ง ๑๖
    ๒.๑๐.๓  อรูปภพ  ภพที่เป็นอรูปาวจร,  ภพของสัตว์ผู้เข้าถึงอรูปฌาน  ได้แก่อรูปพรหม ๔  (ที.ปา.๑๑/๒๒๘/๒๒๘)
    ภพ  กล่าวโดยความหมายมี ๒ ประการ คือ
 ๑)  กรรมภพ  หมายถึง  ภพ  คือ  กรรม  ได้แก่  กิริยาอาการที่สัตว์ทำไว้แล้วและกำลังทำอันมีผลเป็นฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว  และผลนั้นยังติดตามไปในภพต่อไป  ซึ่งกรรมในที่นี้หมายถึงปุญญาภิสังขาร  อปุญญาภิสังขาร  อเนญชาภิสังขาร  ท่านเรียกว่ากรรมภพ  กรรมที่เป็นเหตุให้ไปสู่ภพแม้ทั้งหมดก็เรียกว่า  กรรมภพ
                                     ๒)  อุปปัตติภพ  หมายถึง  ภพ  คือ  ความเกิดขึ้น  กล่าวคือที่เป็นที่อุบัติหรือที่เกิดของสัตว์ที่มีกรรมอันเป็นเหตุให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด  อีกนัยหนึ่ง  ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในกามภพ  รูปภพ  และอรูปภพ  ชื่อว่า  อุปปัตติภพ
อุปปัตติภพ  โดยประเภทมี ๙  อย่าง  คือ  กามภพ  รูปภพ  อรูปภพ  สัญญาภพ  อสัญญาภพ  เนวสัญญานาสัญญาภพ  เอกโวการภพ  จตุโวการภพ  ปัญจโวการภพ (อภิ.วิ. ๓๕/๒๖๕/๑๘๓ ; วิสุทธิ.ฏีกา. ๓/๑๘๔-๑๘๕)
กามุปาทาน  เป็นปัจจัยแห่งกามภพและรูปภพ  ทิฏฐุปาทานเป็นปัจจัยแห่งภพทั้งสาม  คือ  กามภพ  รูปภาพและอรูปภพ  สีลัพพตุปาทานและอัตตวาทุปาทาน เป็นปัจจัยแห่งภพทั้งสามเช่นเดียวกัน  ส่วนภพที่เป็นเหตุให้เกิดชาตินั้น คือ กรรมภพเท่านั้น
        ๑๑.  ชาติ  คือ  ความเกิด  ได้แก่  ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย  การได้อายตนะ  อันเป็นการเริ่มกระบวนการแห่งชีวิตให้ดำเนินต่อไป
ชาติ  คือ  การเกิดขึ้นของสัตว์ทั่งหลาย  ใน  ๓๑  ภูมิ  มีอบาย  สัตว์เดรัจฉาน  มนุษย์  เทวดาและพรหม  สืบเนื่องมาจากกรรมภพ  คือ  การทำด้วยกาย  วาจา  ใจ  ที่เป็นทั้งกุศลและอกุศล  กรรมภพจึงเป็นปัจจัยแก่ชาติ  ถ้าทำกรรมดีก็จะไปเกิดในสุคติภูมิ  ทำกรรมชั่ว  จะนำไปเกิดในทุคติภูมิ  ชาติ  คือ  การเกิดนี้เป็นปัจจัยให้มีชรามรณะต่อไป
        ๑๒.   ชรามรณะ  คือ  ความแก่และความตาย
พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า  ทรงแสดงลักษณะของชราว่า  ความเสื่อมพร้อมแห่งอายุ  และความแก่รอบแห่งอินทรีย์  ดังปรากฏในมหาสติปัฏฐานสูตร  สัจจบรรพทุกขอริยสัจว่า  “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ชรา  เป็นอย่างไร  คือ  ความแก่ภาวะของความแก่  ฟันหลุดหนังเป็นเกลียว  ความเสื่อมแห่งอายุ  ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ในหมู่สัตว์นั้น ๆ  ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ  เรียกว่า  “ชรา”  (ที.มหา. ๑๐/๒๙๕/๓๓๖-๓๓๘)
ชราและมรณะมีสภาพเป็นอารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนา  แต่สรรพสัตว์ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้  ต้องประสบด้วยกันทั้งนั้น  ไม่มีหนทางที่จะหนีไปให้พ้นได้  เพราะมีชาติ  คือ  ความเกิดของสัตว์เป็นต้นเหตุ  หากสามารถทำลายการเกิดเสียได้  จึงจะพ้นจากชราและมรณะไปได้ (มูลนิธิแนบ  มหานีรานนท์, ๒๕๓๐  หน้า ๘๓-๘๔)
ในปฏิจจสมุปบาททั้ง ๑๒ ข้อ  เป็นปัจจัยต่อเนื่องกันไป  หมุนเวียนเป็นวงจร  ไม่มีต้นไม่มีปลาย  เรียกว่า  ภวจักร  วงล้อหรือวงจรแห่งภพ  อวิชชาเป็นตัวแสดงบทบาทสำคัญที่สุดในวงจร  เพราะว่ามนุษย์ไม่รู้  ไม่เข้าใจชีวิตตัวเองอย่างแท้จริง  จึงหลงผิดว่ามีตัวตน  และการหลงผิดนี้  เมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใด  ก็ทำให้ความคิดปรุงแต่งต่าง ๆ  เป็นไปตามแนวทางของมัน  ความคิดปรุงแต่งทั้งหมด  เรียกว่า  สังขาร  และสังขารจะประสานเข้ากับองค์ประกอบอื่น ๆ ต่อ ๆ ไปอีกจนครบวงจร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เปิดพลังแห่ง ความสุข.............

การให้เกียรติสิ่งรอบตัวถือเป็นการเปิดพลังแห่งทัศนคติใหม่ และยังเสริมการมองเห็นทัศนวิสัย ให้ก้าวสู่โลกที่มีคุณค่า และนอกจากนี้ยังทำให้คุณตื่นขึ้นมาเห็นความจริงรอบตัว ที่คุณอาจจะไม่เคยเห็น และรับรู้คุณค่าของสิ่งรอบตัวเรา หรือสังคมของเรา แล้วเรียนรู้ที่จะรักในสิ่งที่ควรรัก รักในสิ่งที่ให้ความรู้สึกดีๆที่ตอบแทนมาอย่างมีคุณค่าจริงๆ มันจะช่วยฉุดดึงให้คุณหลุดออกจาก อดีตที่เจ็บช้ำหรือแม้แต่ความยึดติดใดๆก็ตาม เชื่อหรือไม่ว่าสิ่งรอบตัวบางอย่างหรือหลายๆอย่างนั้น คุณอาจไม่เคยแยแส แม้แต่ก่อนที่จะพบเรื่องเศร้าด้วยซ้ำ
คำว่า “การให้เกียรติ” คำๆนี้คือวิถีคือครรลองที่สังคมของมนุษย์ที่มีจิตใจสูงในทางโลก ย่อมที่จะพัวพันกับภาวะของการให้เกียรติอยู่กันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการให้เกียรติต่อ บุคคล ให้เกียรติต่อสัญลักษณ์ ให้เกียรติต่อสิ่งที่มีค่าทางจิตใจ ให้เกียรติต่อสิ่งที่ยึดถือ ให้เกียรติต่อสิ่งที่มีบุญคุณ ในชีวิตเราและชีวิตท่านวันนี้คุณให้เกียรติคนที่คุณ "เกลียดชัง" พวกเขาแล้วหรือยัง.......

" โลกนี้จะร่มเป็นสุข อยากให้โลกนี้ดีงาม ให้เริ่มต้นที่ ใจ ตนเองเป็นอันดับแรก "

Glitter Photos

พระเชนเรซิก อวโลกิเตศวร มหาโพธิสัตว์

พระเชนเรซิก อวโลกิเตศวร มหาโพธิสัตว์