วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560

ภาพถังกากับการอธิบายปฏิจจสมุปบาท




ภาพถังกากับการอธิบายปฏิจจสมุปบาท
  • การพยายามอธิบายให้ความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาทนี้ ได้มีการพยายามทำกันมาช้านาน จนถึงพยายามอธิบายให้เข้าใจในอาการ ๑๒ โดยเขียนเป็นภาพก็มี ดังที่ปรากฏอยุ่ในภาพปฏิจจสมุปบาทที่เกิดมาทางสายมหายานช้านาน แสดงอาการทั้ง ๑๒ นั้นเป็นภาพ โดนที่แสดงเขียนเป็นภาพไว้ดังนี้
ผู้หญิงแก่ตาบอดเดินหลังค่อมยันไปด้วยไม้เท้าได้แก่ อวิชชา ก็เพราะว่าไม่รู้ไม่เห็นจึงเทียบได้กับคนตาบอด
  • คนปั้นหม้อกำลังปั้นหม้อเทียบด้วย สังขาร เพราะว่าสังขารก็คือการปรุงแต่ง จึงเทียบกับการปั้นหม้อ
  • วานรผู้กระโดดจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่งเทียบด้วย วิญญาณ เพราะวิญญาณตามที่ได้อธิบาย เมื่อเป็นจุติวิญญาณก็เคลื่อนจากอารมณ์หรือจากภพชาติอันหนึ่งไปอุปบัติคือเข้าถึงอารมณ์หรือภพชาติอีกอันหนึ่ง ดังที่เรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณ จึงเทียบได้กับวานรที่กระโดดจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปถึงต้นไม้อีกต้นหนึ่ง
  • คนพายเรือจ้างซึ่งรับคนโดยสารไปในเรือจ้างเทียบกับ นามรูป ก็เพราะว่านามรูปนั้นต้องอาศัยกัน นามก็ต้องอาศัยรูป รูปก็ต้องอาศัยนาม เหมือนอย่างเรือกับคนพายเรือและคนโดยสารที่ต้องอาศัยกัน
  • บ้านที่มี ๖ หน้าต่าง หน้าต่างทั้ง ๖ เทียบด้วย สฬายตนะ ก็เพราะต้องมีอายตนะ ๖ จึงจะรับอารมณ์สัมผัสต่อไปได้
  • บุรุษและสตรีที่รักใคร่กันเทียบด้วย ผัสสะ เพราะผัสสะก็คือความกระทบจึงเทียบด้วยบุรุษและสตรี ซึ่งต้องการสัมผัสของกันและกัน
  • คนที่ถูกลูกศรติดลูกตาอยู่ เทียบด้วย เวทนา เพราะเวทนาก็คือการเสวยอารมณ์ จึงต้องการแสดงถึงลักษณะที่เสวยอารมณ์ให้เห็นชัด
  • คนติดสุราผู้กระหายหิวเทียบกับ ตัณหา เพราะแสดงถึงความกระหายต้องการอย่างแรง
  • คนกำลังปลิดผลไม้จากต้นไม้เทียบได้กับ อุปาทาน เพราะแสดงถึงความยึดถือ
  • หญิงมีครรภ์เทียบด้วย ภพ เพราะต้องการแสดงถึงภพคือกามภพเป็นต้น อันเป็นปัจจัยสืบต่อไปถึงชาติ คือความเกิด จะมีชาติคือมีความเกิดก็ต้องตั้งครรภ์ขึ้นมาก่อน คือจะมีภพขึ้นก่อน
  • หญิงที่กำลังคลอดบุตรเทียบกับ ชาติ คือความเกิด
  • ภาพคนแก่และศพคนตายเทียบกับ ชรา มรณะ

  • ภาพที่แสดงอาการทั้ง ๑๒ ในปฏิจจสมุปบาทนี้ได้มีมานานก็เพื่อต้องการที่จะให้ความเข้าใจให้ชัดขึ้นโดยภาพ”

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) หลักธรรมสำคัญของพระพุทธศาสนา หน้า ๒๑๐ ๒๑๑


ปฏิจจสมุปบาท
กาลจักร (The Wheel of Life)

  • ภาพกาลจักร หรือ ภวจักร เป็นภาพที่มุ่งหมายแสดงให้รู้ว่าทุกข์เกิดและดับอย่างไร อันเป็นอาการของจิตที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของคนเรา มีความรวดเร็ว รุนแรงเหมือนสายฟ้าแลบ ทั้งนี้เป็นไปตามกฎธรรมชาติที่ว่าด้วย อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท 
  • อันเป็นพระธรรมสำคัญที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ว่า ทุกสิ่งล้วนเกิดจากเหตุและปัจจัย ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นอย่างลอยๆ ต่างล้วนอาศัยพร้อมกันแล้วเกิดขึ้นในลักษณะ ๑๒ ห่วงโซ่อาการแห่งจิต
  • ภาพมุมด้านขวามือ เป็นภาพพระบรมศาสดาทรงชี้ให้เราเห็นภัยแห่งสังสารวัฏฏ์ ซึ่งกักขังปวงสัตว์ ซึ่งรวมทั้งคนเราให้ตกอยุ่ในห้วงแห่งความทุกข์ทรมาน
  • ภาพยักษ์ที่กัดกินวงกลม หมายแทนกาลเวลา 
  • กะโหลกผี ๕ กะโหลก หมายแทนขันธ์ห้าที่ประกอบด้วยอุปาทานว่าเป็น ตัวเรา และ ของเรา หมายความว่าเมื่อใดที่จิตสำคัญมั่นหมายว่าเป็น ตัวเรา และ ของเรา ขณะนั้นจะถูกกาลเวลากัดกินให้เป็นทุกข์ทรมานอยู่ตลอดเวลาที่ยึดถือว่ามี ตัวเรา อยู่ ซึ่งพื้นฐานเดิมของจิตนั้นมีลักษณะว่างจาก ตัวเรา หรือเรียกจิตเดิมนี้ว่า จิตประภัสสร
  • ภาพวงกลมใหญ่ทั้งหมด หมายแทนอาการของจิตในขณะที่ยักษ์กัดกินโดยแสดงเป็นวงกลมซ้อนกันอยู่ ๔ ชั้น
  • วงกลมเล็กในสุด ภาพงูกำลังกัดหางไก่ ไก่กำลังกัดหางหมู หมูกำลังกัดหางงู หมุนเวียนกันเรื่อยไปต่อเนื่องกันไม่สิ้นสุด แสดงให้เห็นถึงอำนาจของกิเลสอันมีอกุศล คือ โลภ โกรธ หลง เป็นมูลเหตุ มาทำให้จิตเดิมที่ประภัสสรนั้นหมองไปตามอำนาจ กระทำหมุนวนเวียนเป็นวงกลมซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นวงจรแห่ง กิเลส กรรม วิบาก อันเป็นวัฏฏสงสารที่กักขังสัตว์ให้เวียนตายเวียนเกิดอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ทรมาน
  • วงกลมเล็กถัดออกมา แสดงถึงสิ่งที่เป็นไปตามกิเลส กรรม วิบาก หล่อเลี้ยงวัฏฏสงสารให้หมุนเวียนไปไม่มีที่สิ้นสุด แบ่งวงกลมเป็น ๒ ซีก ซีกดำหมายแทน บาป นรก ความชั่ว ความทุกข์ ฯ อันเป็นสภาพแห่งกรรมข้างฝ่ายดำ ส่วนซีกขาว หมายแทนบุญ สวรรค์ ความดี ความสุข ฯ หมายถึงกรรมข้างฝ่ายขาวที่มีความละอาย เกรงกลัวบาป แต่ยังยึดถือบุญ สวรรค์ ความดี ความสุข ว่าเป็น ตัวเรา และ ของเรา จึงไม่สามารถหลุดพ้นไปสู่ความเป็นอิสระที่เหนือกรรมทั้งดำทั้งขาวได้
  • วงกลมถัดออกมา แบ่งเป็น ๕ ส่วน แสดงให้เห็นว่าในวันหนึ่งๆเมื่อใดที่จิตของเรามีการกระทบอารมณ์ แล้วตอนนั้นจิตขาดสติปัญญา จิตจะสำคัญขึ้นว่าเป็น ตัวเรา จิตก็พร้อมจะมีสภาพผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนว่ายวนเกิดในสภาวะแห่งภูมธรรมต่างๆ ๕ ภูมิ ได้แก่ ภูมิมนุษย์ เมื่อคิดเห็นเป็นอยู่สมมนุษย์ ภูมิเปรตเมื่อมีแต่ความทะยานอยากไม่รู้จักพอ ภูมินรกเมื่อมีแต่ความวิตกทุกข์ร้อนหรือหนาวยะเยือกในใจไม่รู้จักสงบเย็น ภูมิเดรัจฉานเมื่อทุกเมื่อเชื่อวันนั้นหมกมุ่นอยุ่แต่กับดิรัจฉานวิสัย คือ กิน ขี้ขลาด สืบพันธุ์ นอน และภูมิเทวดา ที่แม้จะละอายและเกรงกลัวบาปแต่ก็ยังติดดีและสุข เที่ยวเสาะแสวงหารบพุ่งแย่งชิงระหว่างกันอยู่เสมอ
  • วงกลมนอกสุด แสดงถึงมูลเหตุที่ทำให้สัตว์ยอมจมอยู่ในห้วงแห่งวัฏฏสงสาร ด้วยห่วงโซ่อาการของจิตที่ต่อเนื่องกัน ๑๒ ห่วง คือ อวิชชา แสดงด้วยภาพเด็กที่ไม่รู้นำทางคนแก่ตาบอดที่ไม่เห็นแล้วคิดปรุงแต่งตามวิสัยคนปั้นหม้อ (สังขาร) ต่อๆกันไป ตามกระแสแห่ง วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ ฯลฯ ซึ่งกล่าวโดยสรุปแล้ว เพราะอวิชชาตัวเดียวเท่านั้น หนุนเนื่องให้ปรากฏขั้นตอนต่างๆอย่างฉับพลันพร้อมกันจนเป็นทุกข์
  • ภาพล้อธรรมจักร ๑๒ ซี่มุมบนซ้ายมือ ที่พระบรมศาสดาทรงชี้ทางแก่สานุศิษย์ หมายถึงวิธีการที่จะปฏิบัติเพื่อให้หลุดออกมาเสียได้จากสังสารวัฏฏ์ ซึ่งกักขังสัตว์เอาไว้ให้จมอยุ่ในห้วงแห่งความทุกข์ หมายแทนอริยสัจจ์ ๔ หรือความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ พร้อมด้วยกิจที่จะต้องปฏิบัติอย่างละ ๓ รวมเป็น ๑๒ ซึ่งหมายถึงการรู้และเข้าใจในทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การหมดสิ้นทุกข์เสียได้ และการปฏิบัติตามหนทางอันประเสริฐ ๘ ประการเพื่อการดับทุกข์ ด้วยปัญญารุ้เท่าทันสภาพและกระบวนแห่งจิตในทุกขณะ มีอินทรียสังวรและกำลังพร้อมต่อทุกขณะแห่งผัสสะมิให้ไหลวนไปตามอำนาจแห่งอวิชชาจนเป็นทุกข์”
  • คำอธิบายภาพปฏิจจสมุปบาท แบบทิเบต โดยท่านพุทธทาส
  • ที่มาของภาพ : โรงมหรสพทางวิญญาณ สวนโมกขพลาราม ไชยา สุราษฎร์ธานี และต้นฉบับภาพถังกาจากทิเบต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เปิดพลังแห่ง ความสุข.............

การให้เกียรติสิ่งรอบตัวถือเป็นการเปิดพลังแห่งทัศนคติใหม่ และยังเสริมการมองเห็นทัศนวิสัย ให้ก้าวสู่โลกที่มีคุณค่า และนอกจากนี้ยังทำให้คุณตื่นขึ้นมาเห็นความจริงรอบตัว ที่คุณอาจจะไม่เคยเห็น และรับรู้คุณค่าของสิ่งรอบตัวเรา หรือสังคมของเรา แล้วเรียนรู้ที่จะรักในสิ่งที่ควรรัก รักในสิ่งที่ให้ความรู้สึกดีๆที่ตอบแทนมาอย่างมีคุณค่าจริงๆ มันจะช่วยฉุดดึงให้คุณหลุดออกจาก อดีตที่เจ็บช้ำหรือแม้แต่ความยึดติดใดๆก็ตาม เชื่อหรือไม่ว่าสิ่งรอบตัวบางอย่างหรือหลายๆอย่างนั้น คุณอาจไม่เคยแยแส แม้แต่ก่อนที่จะพบเรื่องเศร้าด้วยซ้ำ
คำว่า “การให้เกียรติ” คำๆนี้คือวิถีคือครรลองที่สังคมของมนุษย์ที่มีจิตใจสูงในทางโลก ย่อมที่จะพัวพันกับภาวะของการให้เกียรติอยู่กันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการให้เกียรติต่อ บุคคล ให้เกียรติต่อสัญลักษณ์ ให้เกียรติต่อสิ่งที่มีค่าทางจิตใจ ให้เกียรติต่อสิ่งที่ยึดถือ ให้เกียรติต่อสิ่งที่มีบุญคุณ ในชีวิตเราและชีวิตท่านวันนี้คุณให้เกียรติคนที่คุณ "เกลียดชัง" พวกเขาแล้วหรือยัง.......

" โลกนี้จะร่มเป็นสุข อยากให้โลกนี้ดีงาม ให้เริ่มต้นที่ ใจ ตนเองเป็นอันดับแรก "

Glitter Photos

พระเชนเรซิก อวโลกิเตศวร มหาโพธิสัตว์

พระเชนเรซิก อวโลกิเตศวร มหาโพธิสัตว์